/ อยุธยา / วัดกษัตราธิราชวรวิหาร
แนะนำที่พักกาญจนบุรี อัพเดตล่าสุด

วัดกษัตราธิราชวรวิหาร


วัดกษัตราธิราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ที่ได้รับการบูรณะหลายครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ อุโบสถประดิษฐานพระพุทธกษัตราธิราชซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามให้ วิหารมีรูปหล่อสมเด็จพระวันรัตน์พระอาจารย์ในสมเด็จพระเนรศวรมหาราชให้คนรุ่นหลังได้กราบสักการะ

วัดกษัตราธิราช แต่เดิมชื่อวัดกษัตราราม ไม่ปรากฏว่าสร้างขึ้นในสมัยใด ในพระราชพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ บันทึกไว้ว่าเป็นสถานที่ตั้งปืนใหญ่ของพม่า แม้ในพระราชพงศาวดารจะใช้คำว่า ‘สมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์’ แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาแล้ว น่าจะหมายถึง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือพระเจ้าเอกทัศ

วัดกษัตราธิราชรกร้างมาตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่สอง กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) ได้บูรณะวัดกษัตราธิราช โดยแทบจะสร้างวัดใหม่ทั้งหมด และประทานชื่อว่า ‘วัดกษัตราธิราช’

วัดกษัตราธิราชได้รับการบูรณะอีกสองครั้ง คือ ในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 5 โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัดพระอารามหลวงชั้นตรี ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 กระทั่งกรมศิลปากรบูรณะครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2534 และได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2541

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. พระปรางค์ประธาน

พระปรางค์ประธานของวัดกษัตราธิราชเป็นพระปรางค์ขนาดเล็ก สูงเพียง 22 เมตร 60 เซนติเมตร ทรงฝักข้าวโพด นับเป็นพระปรางค์ที่ครบสมบูรณ์พร้อมตั้งแต่นภศูลจรดฐานเขียง โดยลักษณะขององค์พระปรางค์และอุณาโลมเป็นศิลปะอยุธยา เชื่อกันว่าภายในพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่

  1. อุโบสถ

อุโบสถวัดกษัตราธิราช แม้เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เสมาเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า ‘พระพุทธกษัตราธิราช’ พระพุทธกษัตราธิราชเป็นพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา จุดเด่นคือมีฐานชุกชีและผ้าทิพย์ที่มีลวดลายงดงาม โดยเฉพาะฐานชุกชีเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งมีอยู่เพียงที่เดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะครุฑยุดนาคโดยปกติแล้วจะปรากฏรอบพระอุโบสถหรือฐานพระปรางค์

  1. วิหาร
    • วิหารเหนือ หน้าบันของวิหารเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ (ทรงครุฑ) ด้านในวิหาร บริเวณผนังมีร่องรอยของช่องสำหรับพระพุทธรูปประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กทว่าปัจจุบันเจาะเป็นช่องหน้าต่าง สิ่งศักดิสิทธิ์ภายในวิหาร ได้แก่

พระพุทธรูปปางถวายเนตร เป็นพระพุทธรูปปางยืน ประสานพระหัตถ์ไว้ด้านหน้า แสดงพุทธประวัติช่วงที่พระพุทธองค์ทรงกระทำอุปหาร (ยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์) บริเวณที่ทรงกระทำอุปหารเรียกว่าอนิมิสเจดีย์ เชื่อกันว่าใครบูชาพระพุทธรูปปางถวายเนตรแล้วจะประสบความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านหน้าที่การงานและอื่นๆ

พระพุทธรูปปางประทานพร เป็นพระพุทธรูปปางยืน ยกพระหัตถ์ หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางด้านหน้า แสดงพุทธประวัติช่วงที่นางทาสีของนางวิสาขามาพบภิกษุเปลือยกายอาบน้ำและคิดว่าเป็นนักบวชลัทธิชีเปลือย เป็นเหตุให้นางวิสาขากราบประทานพร ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนสำหรับภิกษุและภิกษุพร้อมอาหาร 4 อย่าง ข้าวยาคู และยาสำหรับภิกษุอาพาธ

  • วิหารใต้ วิหารใต้เป็นวิหารที่มีซุ้มประตูยอดมณฑป หน้าบันของวิหารสลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระพุทธรูปปางสมาธิ นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่

พระศรีอริยเมตไตร พระศรีอริยเมตไตรพบได้น้อยมากในวัดพุทธ นิกายเถรวาท โดยพระศรีอริยเมตไตรคือผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 5 ต่อจากพระสมณโคดม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน

รูปหล่อสมเด็จพระวันรัตน์ เชื่อกันว่าสมเด็จพระวันรัตน์ป่าแก้วเป็นพระอาจารย์สมเด็จพระเนรศวรมหาราช โดยในพงศาวดารกล่าวถึงสมเด็จพระวันรัตน์ว่าเป็นผู้ที่ขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทหารหาญและข้าราชการที่ตามเสด็จไม่ทัน จนพระองค์ท่านตกต้องอยู่ในวงล้อมพม่าและต้องทรงกระทำยุทธหัตถีในที่สุด

รูปหล่อพระวิสุทธาจารย์เถร (หลวงปู่เทียม สิริปุญโญ) หลวงปู่เทียม อดีตเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เป็นที่เคารพของสาธุชนทั้งในและนอกจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แม้หลวงปู่เทียมจะมรณภาพไปแล้ว แต่สาธุชนยังสามารถกราบรูปเคารพของท่านได้ที่วิหารแห่งนี้

          


ค่าใช้จ่าย

ค่าเข้าชม: ฟรี

เวลาทำการ

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน 08.30-16.30 น.

วิธีการเดินทาง

จากเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยาใช้เส้นทางอยุธยา-อ่างทาง (โรจนะ) เลี้ยวขวาเข้าถนนศรีสรรเพชญ์ ถึงวงเวียนเลี้ยวซ้าย เข้าถนนป่าโทน ผ่านถนนคลองท่อ ใช้ถนน 3263 ข้ามสะพานกษัตราธิราช กลับรถ เลี้ยวขวาเข้าซอย วัดจะอยู่ทางขวามือ

แชร์ประสบการณ์ตะลอนของคุณได้ที่นี่