บ้านฮอลันดา
บ้านฮอลันดา: อาคารพิพิธภัณฑ์บนหมู่บ้านฮอลันดาเดิมซึ่งได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ภายในจัดแสดงเรื่องราวของชาวฮอลันดาในกรุงศรีอยุธยาและนิทรรศการความสัมพันธ์ 400 ปี ไทย-เนเธอร์แลนด์ พลาดไม่ได้กับการเที่ยวชมซากสถานีการค้าวีโอซีโบราณ ร่องรอยความยิ่งใหญ่ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา
บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา เป็นบริษัทค้าขายระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายการผูกขาดทางการค้าของชาวโปรตุเกส บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ชาวอังกฤษเรียกเฟโอเซ ในภาษาดัตซ์ใช้ตัวอักษรย่อ VOC ทำให้คนไทยในปัจจุบันเรียกกันว่าบริษัทวีโอซี
บริษัทวิโอซีเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเนรศวรมหาราช ประมาณปี พ.ศ. 2147 ด้วยวัตถุประสงค์ดั้งเดิม คือ ต้องการทราบเส้นทางการค้าสู่จีน ทว่าหลังจากที่ได้รู้จักกรุงศรีอยุธยาแล้ว ทางบริษัทจึงพบว่าอยุธยามีสินค้าที่ชาวยุโรปต้องการมากมาย เช่น หนังกวาง แร่ดีบุก ไม้ฝาง และไม้กฤษณา จึงทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยาด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทางบริษัทจัดตั้งสถานีการค้าขึ้นทางทิศใต้ของเกาะเมือง ในปี พ.ศ. 2177 รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง อาณาจักรปัตตานีตัดสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา โดยการงดส่งเครื่องบรรณาการและบุกตีพัทลุงและนครศรีธรรมราช สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจึงส่งกองทัพไปโจมตีอาณาจักรปัตตานี ครั้งนั้นบริษัทวีโอซีได้ส่งกองเรือไปร่วมรบด้วย ทำให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงปูนบำเหน็จความดีความชอบด้วยการพระราชทานที่ดินขนาดใหญ่นอกเกาะเมือง ริมน้ำเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกสบายในการขนถ่ายสินค้า
หลังจากที่บริษัทวีโอซีย้ายสถานีการค้ามาแล้ว ชาวฮอลันดาที่ทำงานในบริษัทก็ตั้งบ้านเรือนใกล้กับสถานีการค้า กลายเป็นหมู่บ้านฮอลันดา ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ ชาวฮอลันดาได้อพยพออกไปทั้งหมด จึงเหลือเพียงหมู่บ้านร้าง
กรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งสถานีการค้าวีโอซีและหมู่บ้านฮอลันดาสองครั้งใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ในระหว่างปี พ.ศ.2546-2548 และในปี พ.ศ.2552 – 2553
ในปี พ.ศ. 2547 ความสัมพันธไมตรีไทย – เนเธอแลนด์ครบรอบ 400 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ เจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์ เจ้าชายแห่งออเรนจ์ (มกุฎราชกุมาร) และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จเยือนหมู่บ้านฮอลันดาและซากสถานทีการค้าวีโอซีที่กำลังขุดแต่ง สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้น ภายหลังได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ กระทั่งกลายเป็นบ้านฮอลันดาในปัจจุบัน
สิ่งที่น่าสนใจ
- สถานีการค้า VOC
สถานีการค้า VOC เดิม เหลือเพียงรากฐาน แต่ก็ยังพอจะมองเห็นได้ว่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ภายหลังได้รับการปรับแต่งจนสามารถมองเห็นผนังด้านหนึ่งที่ก่ออิฐขึ้นมาใหม่ได้ ใกล้กับสถานีการค้าวีโอซีมีท่าเทียบเรือจำลอง บริเวณนี้นับเป็นไฮไลท์ของบ้านฮอลันดา หากนักท่องเที่ยวมาแล้วไม่ได้ถ่ายรูป ก็เรียกได้ว่ามาไม่ถึงบ้านฮอลันดาเลยทีเดียว
- อาคารพิพิธภัณฑ์
บ้านฮอลันดาก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554 เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเดียว มี 2 ชั้น แบ่งออกเป็น 3 โซนได้แก่
- ส่วนนิทรรศการ เป็นโซนที่แสดงให้เห็นว่าชาวฮอลันดาคือใคร ทำไมถึงเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของวีโอซี ว่าเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของพ่อค้าเพื่อขจัดการผูกขาดทางการค้าของโปรตุเกส บริษัทวีโอซีมีเรือเดินสมุทรเกือบ 5,000 ลำ ลูกจ้างเกือบ 1,000,000 คน มีอำนาจเทียบเท่ารัฐ สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ ลงโทษนักโทษ อีกทั้งยังสามารถทำสนธิสัญญาได้ด้วย
- จัดแสดงหลุมขุดค้นจำลอง นอกจากจะแสดงการขุดค้นแล้ว กรมศิลปากรยังนำสิ่งของที่พบในการขุดค้น เช่น เครื่องกระเบื้องจีน เครื่องปั้นดินเผา เหรียญเงินตราดัตช์ และกล้องสูบยามาจัดแสดง ไฮไลท์ของโซนนี้คือพื้นกระจกที่ใต้พื้นมีถ้วยชามดินเผาโบราณจัดแสดงอยู่ ถัดไปไม่ไกลมีกล้องส่องทางไกลที่เมื่อส่องแล้วจะมองย้อนอดีตได้ เพราะจะมองเห็นสถานีการค้าวีโอซีในอยุธยาและในเบงกอลซ้อนทับวิวในปัจจุบัน
- จัดแสดงเรื่องราวสัมพันธไมตรี 400 ปี โซนนี้ประกอบไปด้วยภาพวาดและจดหมายเหตุโบราณที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของสองประเทศ และภาพถ่ายการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ และเจ้าชายวิลเลม-อเล็กซานเดอร์มกุฎราชกุมาร
ค่าใช้จ่าย
50 บาท (มีบัตร Muse Pass เข้าฟรี)
เวลาทำการ
เปิดวันพุธ – อาทิตย์ (หยุดจันทร์ – อังคาร) เวลา 09.00-17.00 น.
วิธีการเดินทาง
จากเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยา ใช้ถนนเทศบาลเมืองอโยธยาสู่เจดีย์วัดสามปลื้ม ใช้ทางออกที่ 2 สู่ถนน 3477 ผ่านวัดใหญ่ชัยมงคลโค้งขวาตามถนน ผ่านโรงเรียนวัดพนัญเชิง เลี้ยวขวาเข้าซอยคานเรือ พอเลยโค้งแล้วจะเห็นโรงแรมมอยู่ทางซ้าย บ้านฮอลแลนด์อยู่ทางขวามือ ระยะทาง 4.9 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 12 นาที