ทางรถไฟสายมรณะ หรือ Burma Railway เป็นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 แรงดึงดูดที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปนั่งรถไฟสายนี้ โดยเฉพาะช่วงข้ามสะพานแม่น้ำแคว จึงมีทั้งภาพเบื้องหน้าที่สวยงาม และข้างหลังภาพที่มีความสลดหดหู่ในความเป็นมนุษย์ร่วมโลกเมื่อครั้งมีสงคราม
ทางรถไฟสายนี้ เริ่มต้นตั้งแต่บ้านหนองปลาดุก ซึ่งอยู่ในอ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านจ.กาญจนบุรี ก่อนเข้าสู่ประเทศพม่า ปลายทางที่เมืองตันบีอูซายัด แต่ปัจจุบันนี้ รถไฟไปสุดที่สถานีน้ำตกในไทยเท่านั้น
ความงดงามของทิวทัศน์บนเส้นทางรถไฟสายนี้ โดดเด่นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่ค่อนข้างเป็นจุดนัดพบถ่ายภาพ คนที่เดินทางโดยรถยนต์ไปท่องเที่ยวที่กาญจนบุรี มักไม่พลาดช็อตนี้
ทิวทัศน์ระหว่างข้ามแม่น้ำแคว และช่วงที่ทางรถไฟโค้งแนบไปกับผาหิน มองลงไปเป็นสายน้ำ ข้างทางมีต้นไม้เขียว ป่าสวยๆ หรือบริเวณที่มีรีสอร์ทงดงาม หรือระหว่างรถไฟชะลอตัว ยื่นมือออกไปสัมผัสหน้าผาเบาๆ พร้อมอธิษฐานในสิ่งที่ต้องการ ตามความเชื่อที่เล่าต่อๆ กันมาว่าจะทำให้ได้สมอย่างที่อธิษฐาน
การได้เดินบนทางรถไฟเพื่อไปเข้าถ้ำกระแซ บนเส้นทางที่ยาวเหนือแม่น้ำแควน้อย เป็นระยะทางถึง 400 เมตร ค่อนข้างเป็นไฮไลต์ วัดใจเต็มๆ ความสวยงามกับทิวทัศน์ ความหวาดเสียวกับความสูง ระยะทางที่ท้าทาย แต่ควรไปให้ถึง ครั้งหนึ่งในชีวิต แล้วกราบพระพุทธรูปในถ้ำ ในช่วงเวลาที่ต้องคอยกำหนดเอาไว้ เพื่อกลับมาขึ้นรถไฟขากลับได้ทัน เชื่อว่านี่คือช่วงเวลาแห่งความทรงจำกับทางรถไฟสายนี้
ถ้าชอบน้ำตก นั่งรถไฟต่อไปที่น้ำตกไทรโยค ชมหัวจักรไอน้ำยุคสงครามโลก เล่นน้ำ ชมวิวน้ำตก ท่ามกลางป่าธรรมชาติที่ได้รับดูแลอย่างดีจากอุทยานแห่งชาติไทรโยค
ความงดงามน่าทึ่งก็ส่วนหนึ่ง แต่กว่าจะมาเป็นทางรถไฟที่สร้างสำเร็จได้อย่างน่าอัศจรรย์นี้ แท้จริงแล้วแทบจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของทางรถไฟสายนี้ คือสุสานของเชลยศึกเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ว่าได้
กำเนิดทางรถไฟสายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อจะสร้างเส้นทางสายยุทธศาสตร์การรบสำคัญของญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานในไทย ต้องการทำทางเพื่อที่จะลำเลียงอาวุธ ยุทโธปกรณ์ต่างๆ ผ่านไทยไปจัดการพม่า อินเดีย ที่ทั้งสองประเทศคืออาณานิคมของอังกฤษที่เป็นฝ่ายตรงข้ามในสงครามโลกครั้งที่สอง ความยากลำบากในการสร้าง นอกจากความลำบากจากภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา และแม่น้ำแล้ว ยังมีการถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ผนวกกับในภาวะสงครามที่มีความขาดแคลนอาหาร เผชิญกับโรคระบาดอย่างอหิวาตกโรค ที่เป็นโรคร้ายแรงในยุคนั้นแล้ว นับเป็นความลำบากขั้นสาหัส จากที่พึ่งพากำลังของกรรมกรในประเทศโซนเอเชีย จึงเปลี่ยนเป็นใช้กำลังของเชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ทหารจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ นิวซีแลนด์ ไม่ต่ำกว่า 60,000 คน ถูกจับให้มาทำหน้าที่ก่อสร้างทางรถไฟแห่งนี้ ท่ามกลางอันตราย การกดดัน และความโหดร้ายทารุณในฐานะเชลยศึกด้วย การเสียชีวิตในขณะทำงาน ระดับโศกนาฏกรรมที่มีคำพูดต่อมาว่า “หนึ่งชีวิตต่อหนึ่งไม้หมอนรถไฟ” กว่าจะสร้างเส้นทางรถไฟความยาว 415 กิโลเมตร 37 สถานี สำเร็จลงได้ในวันที่ 25 ต.ค. 2486 เฉพาะส่วนข้ามแม่น้ำแควนี้ มีความพิเศษความยาว 300 เมตรนั้น สร้างเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับทางรถไฟสายนี้ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองทัพของอังกฤษ ทำลายทางรถไฟสายนี้ในพม่า และบางส่วนของไทย ไปรวม 36 กิโลเมตร ก่อนที่ไทยจะต้องซื้อทางรถไฟสายนี้มาเป็นของไทยในราคา 50 ล้านบาท และเริ่มบูรณะเพื่อการใช้งาน แต่ในที่สุดด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงทำได้สุดสายที่สถานีน้ำตก นอกนั้นต้องปล่อยทิ้งร้างปล่อยให้ป่าปกคลุมไปจนหมด
ทางรถไฟที่สวยงามอย่างน่าทึ่ง เป็นที่กล่าวขานโดยเฉพาะช่วงที่สูงชันลัดเลาะไปตามแนวหน้าผา มีความโค้งสวยงามบริเวณถ้ำกระแซ ระยะทาง 400 เมตรตรงนี้เอง สวยที่สุด คร่าชีวิตเชลยศึกไปมากพอๆกับความยากในช่วงก่อสร้าง มีบันทึกการตายระหว่างเส้นทางสายนี้ว่า สูญเสียชีวิตไปถึง 21,399 ชีวิต จากจำนวนคน 170,000 คนที่ถูกเกณฑ์มาทำงาน (รวมคนงาน กรรมกร) เพื่อแลกกับเส้นทางรถไฟสายนี้ และนี่คงเป็นที่มาของชื่อ “ทางรถไฟสายมรณะ” เพื่อระลึกถึงชีวิตที่เสียไปเพื่อได้ทางรถไฟสายนี้มา ใครอยากรู้เรื่องราวตลอดจนความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วมในการสร้างทางรถไฟสายนี้ ลองหาบันทึกของ George Voges อดีตเชลยศึกที่เคยเขียนไว้ใน THAILAN-BURMA RAIL ROAD มาอ่านดู
เดินทางไปชมความงาม เก็บภาพที่ต้องการแล้ว อย่าลืมระลึกถึงชีวิตและเก็บแง่คิดเตือนสติตัวเองว่า สงครามระหว่างมนุษย์ไม่ควรเกิดขึ้นในโลกนี้
ที่ตั้ง
ถนน แควใหญ่ ตำบล บ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี กาญจนบุรี 71000