หมู่บ้านญี่ปุ่น: ตื่นตากับประวัติศาสตร์ร่วมอันยาวนานของชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยา ชมรูปปั้นออกญาเสนาภิมุข ชาวญี่ปุ่นที่รับราชการจนได้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เดินกินลมริมน้ำในสวนญี่ปุ่นออกแบบโดยนักออกแบบสวนชื่อก้องโลก บนที่ดินซึ่งเคยเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นเดิม
ชุมชนญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาเริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 21 ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราช เชื่อกันว่าในชุมชนญี่ปุ่นมีชาวญี่ปุ่นสามประเภทคือ
- พ่อค้า ชาวญี่ปุ่นเดินทางผ่านเกาะริวกิวหรือเกาะโอกินาว่าเข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา กระทั่งเข้ามาพักแรมที่นี่เพื่อจัดหาสินค้าล็อตถัดไป
- โรนิน โรนินคือซามูไรที่สูญเสียเจ้านาย (ไดเมียว) อาจจะเนื่องจากสงคราม หรือเกิดจากการที่เจ้านายของพวกเขาถูกลิดรอนอำนาจ เช่น ในยุคเอโดะที่โชกุนยึดที่ดิน (ศักดินา) ของไดเมียวไป ทำให้นักรบเหล่านี้ต้องออกจากสังกัด จนกลายมาเป็นนักรบไร้สังกัดที่เข้ามาพำนักและทำงานในกรุงศรีอยุธยา
- คริสต์ศาสนิกชน เญี่ปุ่นเคยได้รับการเผยแพร่ศาสนาจากสเปนและโปรตุเกส ทว่าชาวคริสต์ในญี่ปุ่นเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วจาก 200 เป็นราว 300,000 คน ชนชั้นปกครองของญี่ปุ่นไม่พอใจจึงขับไล่หมอสอนศาสนาออกจากประเทศ จับชาวญี่ปุ่นที่เป็นคริสต์ประหารอย่างทารุณโหดร้าย ชาวคริสต์ซึ่งเป็นคนญี่ปุ่น หลายคนเข้ากลุ่มคริสตังลับที่เรียกว่า ‘คากูเระคิริชิตัง’ แต่หลายคนก็ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศมาอยู่ที่อยุธยา
ชุมชนชาวญี่ปุ่นอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทางใต้ของเกาะเมือง มีคลองกั้นระหว่างชุมชนญี่ปุ่นกับชุมชนอังกฤษและฮอลันดา จากนั้นชุมชนญี่ปุ่นถูกทำลายไปในปี พ.ศ. 2173 หลังการจลาจลของชาวญี่ปุ่นและออกญาเสนาภิมุขถูกลอบสังหารแล้ว แต่ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ตั้งชุมชนญี่ปุ่นขึ้นใหม่ ทว่ามีชาวญี่ปุ่นกลับมาตั้งถิ่นฐานอยู่เพียง 60-70 คน
ประวัติศาสตร์ช่วงถัดๆ มาปรากฏว่าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยามีจำนวนลดน้อยลงไปมาก กระทั่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชุมชนญี่ปุ่นร้างไปแล้ว แต่กลายเป็นที่อยู่ของคริสตังญวนแทน ปรากฏในตามจดหมายของมองซิเออร์เลอเฟอร์บาทหลวงคณะมิสซังฝรั่งเศส ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ลงวันที่ ๑๒ เดือน กันยายน ค.ศ. ๑๗๔๑ (พ.ศ. ๒๒๘๔)
หมู่บ้านญี่ปุ่นในปัจจุบันสร้างขึ้นบนพื้นที่บริเวณที่เคยเป็นชุมชนชาวญี่ปุ่นเดิม หมู่บ้านชาวญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2530 โดยได้รับงบประมาณแบบให้เปล่าจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในพระราชวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา และเป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่ไทยและญี่ปุ่นมีมิตรภาพอันดีต่อกันมาครบ 100 ปี
สิ่งที่น่าสนใจภายในหมู่บ้าน
- ส่วนจัดแสดง เป็นอาคารที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับวิถีชีวิตขาวญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและกรุงศรีอยุธยา ไฮไลท์ของโซนนี้คือ
- รูปปั้นยามาดะ นางามาสะ หรือออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ซึ่งภายหลังพระเจ้าปราสาททองทรงแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช รูปปั้นนี้มีขนาดเท่าตัวจริง สวมเครื่องแบบข้าราชการอยุธยาโบราณ จะเห็นได้ว่าออกญาเสนาภิมุขนับเป็นชายร่างเล็กที่มีบทบาทใหญ่มากในอยุธยาเลยทีเดียว
- ห้องจัดแสดงสินค้านำเข้าส่งออก สิ่งที่พ่อค้าญี่ปุ่นมักซื้อจากไทย คือ ไม้ฝาดสำหรับย้อมผ้า หนังกวางใช้ทำเสื่อเกราะ หนังปลากระเบนสำหรับทำด้ามดาบ รวมถึงของป่าอีกหลายชนิด สินค้าเหล่านี้หาดูที่ไหนในปัจจุบันไม่ได้อีกแล้ว นอกจากในห้องจัดแสดงแห่งนี้เท่านั้น
- ดาบอยุธยาทรงญี่ปุ่น เนื่องจากมีโรนินจำนวนไม่น้อยเข้ามาอาศัยในชุมชนแห่งนี้ ทำให้ชาวอยุธยารู้จักดาบซามูไรญี่ปุ่นและเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม เกิดการตีดาบอยุธยาทรงญี่ปุ่นขึ้นใช้ในอยุธยาและนครศรีธรรมราช หากอยากเห็นกับตาตัวเองสักครั้ง ก็ต้องเข้ามาดูที่หมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้
- สวนภายนอก
ภายนอกอาคารจัดแสดงเป็นสวนญี่ปุ่นสวยงามร่มรื่น ออกแบบสวนโดยฮิโรฮิสะ นาคาจิมา นักออกแบบสวนชื่อดังระดับโลก สวนแห่งนี้แสดงถึงความสงบเยือกเย็น สะท้อนให้เห็นคติความเชื่อและวัฒนธรรมญี่ปุ่น จุดเด่นของสวนบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาคือศาลาญี่ปุ่น เมื่อมองไปยังฝั่งตรงข้ามแม่น้ำก็จะเห็นหมู่บ้านโปรตุเกสได้อย่างชัดเจน