คุ้มขุนแผน: แหล่งศึกษาความรู้ติดกับวัดแค คุ้มขุนแผนเป็นบ้านเรือนไทยโบราณที่สร้างขึ้นตามวรรณคดี ในบริเวณที่เป็นไปได้ว่าบ้านของขุนแผนตั้งอยู่ตรงนี้จริงๆ โดดเด่นด้วยต้นมะขามยักษ์อายุหลายร้อยปี กับรูปหล่อโลหะขุนแผน ที่ตั้งตระหง่านอยู่หน้าคุ้ม ภายในนักท่องเที่ยวสามารถเดินชมแต่ละห้องของเรือนไทยโบราณที่ตกแต่งราวกับมีผู้พักอาศัยจริง อีกทั้งยังมีเสาเอกตกน้ำมันที่ศักดิสิทธิ์มากจนต้องตั้งโต๊ะบูชา
คุ้มขุนแผน เป็นเรือนไทยโบราณสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี และประชาชนชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วรรณคดี ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2527 เรือนสร้างตามท้องเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่บรรยายว่าเรือนขุนแผนมีมุกด้านหน้า มีบันไดกว้างเท่ากับมุก ตรงกลางเป็นชาน ต่อเรือนลูกออกไปทางซ้ายขวา เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเรือนครัวอยู่ด้านหลัง คุ้มขุนแผนแห่งนี้จึงประกอบไปด้วย เรือนประธานเป็นเรือนนอน เรือนลูก เรือนขวางที่เป็นหอกลาง เรือนครัว หอนก และชาน นอกจากตัวเรือนจะมีลักษณะตามท้องเรื่องแล้ว ยังตั้งอยู่ใกล้วัดแค ในบริเวณที่ควรจะเป็นที่ตั้งของเรือนขุนแผนตามวรรณคดีอีกด้วย ภายในคุ้มขุนแผนจัดแสดงของใช้โบราณในตู้กระจก มีภาพโบราณแขวนผนัง มีการจัดห้องเป็นห้องนอน ห้องครัว ชานบ้าน เหมือนกับเรือนที่ใช้อยู่อาศัยจริง
สิ่งที่น่าสนใจ
- เสาตกน้ำมัน ที่เรือนลูกเรือนหนึ่ง ใกล้กับเรือนครัว มีเสาตกน้ำมันอยู่ ว่ากันว่าเสาตกน้ำมันต้นนี้ศักดิสิทธิ์มาก จนมีผู้เข้ามาสักการะไม่ว่างเว้น กระทั่งต้องตั้งโต๊ะบูชา มีการแขวนสไบและเครื่องแต่งกายต่างๆ ที่ผู้คนนำมาสักการะด้วย เสาตกน้ำมันต้นนี้บ้างว่าเป็นเจ้าแม่ตะเคียนทอง บ้างว่าเป็นดวงวิญญาณนางพิมพิลาไลย โดยป้ายแผนผังคุ้มขุนแผนระบุไว้ชัดเจนว่าบริเวณนี้คือ “ศาลนาวพิมพ์”
- มะขามยักษ์ หน้าคุ้มขุนแผนมีต้นมะขามยักษ์ขนาด 7 คนโอบตั้งตระหง่านให้นักท่องเที่ยวได้ชม เพราะขนาดที่ใหญ่โต สันนิษฐานได้ว่ามีอายุหลายร้อยปี ผู้คนจึงพากันเรียกว่ามะขามพันปี ตามวรรณคดีเล่าว่าขุนแผนเรียนวิชากับอาจารย์คงที่วัดแค โดยหนึ่งในวิชาเหล่านั้นคือเสกใบมะขามเป็นต่อแตนไล่ต่อยข้าศึก หลายคนจึงเชื่อว่ามะขามต้นนี้คือต้นที่ขุนแผนใช้เรียนอาคม
- ชมเรือนครัวในอดีต หลังจากที่ชมต้นมะขามยักษ์ สักการะเสาตกน้ำมัน เดินชมเครื่องเรือน เครื่องใช้โบราณ ทั้งห้องนอน โถง และห้องอื่นๆ แล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถชมเรือนครัวที่ตกแต่งแบบโบราณ ซึ่งอยู่ทางด้านหลังของเรือน โดยครัวโบราณนี้ ใช้ถ่านในการก่อไฟหุงหาอาหารในกระบะใส่ดิน และหม้อที่ใช้ก็เป็นหม้อดิน
- รูปหล่อขุนแผน ด้านหน้าของเรือนมีรูปหล่อโลหะขุนแผนขี่ม้าสีหมอกในมือถือดาบฟ้าฟื้นชูขึ้นไปในอากาศ โดยดาบฟ้าฟื้นคือดาบที่ใช้โลหะมงคลมาหลอมรวมกันในวันฤกษ์ดี ดาบมีสีเขียวปีกแมลงทับ พอกวัดแกว่งแล้วจะเกิดพายุและฟ้าผ่า ส่วนม้าสีหมอก ตามวรรณคดี มันมีแม่เป็นม้าเทศเมืองมะริด มีพ่อเป็นม้าน้ำ เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ นับเป็นม้ามงคล แต่เพราะ ‘ฤทธิ์เยอะ’ เจ้าของเดิมและใครต่อใครเอาไม่อยู่ สุดท้ายเลยมาตกได้ที่ขุนแผน
- ประวัติขุนแผน ภายในเรือนมีประวัติขุนแผนติดฝาผนังสวยงาม เล่าว่าขุนแผนเป็นตัวละครในนิทานพื้นบ้านเมืองสุพรรณที่อาจมาจากเค้าโครงความจริง โดยขุนแผนเกิดที่เมืองสุพรรณ ไปรับราชการที่อยุธยา เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.1967 ถึง พ.ศ.1991 ในสมัยของพระเจ้าพันวัสสา หรือที่คนในปัจจุบันรู้จักกันในนามเจ้าสามพระยานั่นเอง
คุ้มขุนแผนอยู่ติดกับวัดแค ซึ่งวัดแคเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยาและร้างไปหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 กระทั่งมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ นักท่องเที่ยวแวะชมคุ้มขุนแผนแล้ว ก็สามารถเดินเลยไปสักการะสิ่งศักดิสิทธิ์ที่วัดแคได้