พระที่นั่งไกรสรสีหราช ดาราศาสตร์สมัยพระนารายณ์
พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือชื่อไม่เป็นทางการว่า “พระที่นั่งเย็น” หรือ “ตำหนักทะเลชุบศร” มีจุดเด่นกว่าโบราณสถานอื่นคือ เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร มีเขื่อนหินปูนล้อมรอบ ทำนบกั้นน้ำขนาดใหญ่ ที่มีความสลักสำคัญกับระบบน้ำในเมืองลพบุรีในอดีต รวมถึงประวัติศาสตร์การเกิดสุริยุปราคา ปี 2231
พระที่นั่งไกรสรสีหราช เป็นพระตำหนักฤดูร้อนของสมเด็จพระนารายณ์ ในอดีตเป็นพระตำหนักที่มีความสบายจากไอเย็นของน้ำในทำนบ ชื่อว่า “พระที่นั่งเย็น” สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเรียกตามคุณสมบัติของพระตำหนักที่เหมาะสำหรับประทับในฤดูร้อน เพราะมีความเย็นสบาย
ตำหนักทะเลชุบศร นอกจากทะเลชุบศรจะเป็นชื่อตำบลที่ตั้งของพระที่นั่งไกรสรสีหราชแล้ว ทะเลชุบศร ยังตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศร ที่มีการสร้างเขื่อนหินถือปูน (ฉาบด้วยปูนเพื่อประสานอิฐก่อให้แข็งแรงขึ้น) ล้อมรอบ ในสมัยพระนารายณ์ที่นี่มีระบบชักน้ำจากทะเลชุบศรีส่งผ่านท่อน้ำที่ทำด้วยดินเผา ไปถึงบ้านคนในเมืองลพบุรี นับเป็นต้นกำเนิดน้ำประปาก็เรียกได้
พระที่นั่งแห่งนี้มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวที่ปัจจุบันปรักหักพังลงไปมากแล้ว จะเห็นก็เพียงกำแพงและผนังที่ทำด้วยอิฐเรียงซ้อนๆ กันบางส่วนเท่านั้น แต่ที่ยังเด่นชัดก็คือ ช่องหน้าต่างรูปแบบการก่อสร้างสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่มีอยู่รายรอบ ซึ่งน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระตำหนักแห่งนี้มีความเย็น
เอกลักษณ์ประจำพระที่นั่งฯ ใครไปใครมาก็อดที่จะถ่ายภาพกับต้นไม้ใหญ่ที่นี่ไม่ได้ ด้วยลำต้นขนาดกว่า 2 คนโอบ ที่ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาสวยงามไปแบบเป็นพุ่มมีสมดุลราวกับวาดโดยจิตรกร ต้นช่วงลำต้นนั้นเป็นโพรงสูงโดยไม่ทำลายให้ต้นตาย อายุของต้นไม้นี้ไม่ระบุแน่ชัดว่ากี่สิบปี แต่ดูจากที่มีคนเอาผ้าสีมาผูกคาดว่าน่าจะมีความเชื่อบางอย่าง เช่น มีรุกขเทวดาสิงสถิตอยู่
บันทึกจันทรุปราคาและสุริยุปราคา พระที่นั่งเย็นแห่งนี้ได้เป็นสถานที่สำคัญทางดาราศาสตร์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทั้งด้านการสำรวจและทอดพระเนตร ตามประวัติศาสตร์ระบุว่า ทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่นี่ ร่วมกับคณะทูตและบาทหลวงในพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ส่วนหลักฐานการสำรวจจันทรุปราคาที่ยังเห็นเป็นสันดินปรากฏอยู่นั้น เป็นเครื่องยืนยันว่า การสำรวจเมื่อ 11 ธันวาคม พ.ศ.2228 นั้นมีอยู่จริง
พระที่นั่งไกรสรสีหราช รวมถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบริเวณล้อมรอบ ทั้งตัวพระตำหนัก คันทะเลชุบศร ลำคลองปากจั่น ประตูระบายน้ำ เขื่อนกั้น ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถาน ดูแลโดยกรมศิลปากรแล้ว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479 จึงจะยังคงอยู่คู่เมืองลพบุรีอีกนานแสนนาน
การชมโบราณสถานไม่เฉพาะที่นี่ ไม่ใช่การไปดูซากหิน ปรักหักพัง แต่เป็นการย้อนอ่านประวัติศาสตร์ สืบค้นตามหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้าง แต่เห็นไปถึงความเป็นอยู่ทั้งในบ้านเมือง ตลอดจนการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติในแต่ละยุคสมัย
ที่อยู่
ต.ทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000
ค่าใช้จ่าย
ค่าเข้าชม 10 บาท ถ้าเป็นบัตรรวมค่าชมโบราณสถาน 30 บาท สำหรับชาวต่างชาติเริ่มต้นที่ 50 และ150 บาท (หมายเหตุ บัตรรวมเข้าชมได้หลายที่ คือ โบราณสถานบ้านวิชาเยนทร์ โบราณสถานปรางค์สามยอด โบราณสถานวัดพระศรีมหาธาตุ)
เวลาทำการ
เปิดทุกวัน เวลา 8.30-16.00
วิธีการเดินทาง
1. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ไปตามเส้นทางอยุธยา/สระบุรี กาญจนาภิเษก/บางปะอิน ไปเข้าถนนหมายเลข 32 ขับต่อไปเรื่อยๆ แล้วไปใช้เส้นทางหมายเลข 3027 แล้วไปเลี้ยวขวาเข้า ลบ.4003 จากตัวเมืองไปที่วงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์ แล้วไปตามทางหลวงหมายเลข 1 มุ่งสู่ทะเลชุบศร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนหมายเลข 3016 ทางเข้าพระที่นั่งไกรสรสีหราชอยู่ด้านขวามือ
2. เดินทางด้วยรถสาธารณะ ขึ้นรถโดยสารธรรมดาและปรับอากาศ กรุงเทพฯ-ลพบุรีที่สถานีขนส่งหมอชิต
3. เดินทางด้วยรถไฟ ขึ้นที่หัวลำโพง ไปลงสถานีรถไฟลพบุรี
4. เดินทางด้วยรถตู้ประจำทาง ขึ้นได้หลายจุด อนุสาวรีย์ หมอชิต รังสิต จุดหมายปลายทาง ขึ้นอยู่กับแต่ละคิวรถ
การเดินทางต่อนั้น มีทั้งรถประจำทางในเมือง รถรับจ้าง ซึ่งใช้เวลาไม่นานมาก เนื่องจากห่างตัวเมืองเพียง 4 กิโลเมตร