ปรางค์แขก เทวสถานโบราณ ใจกลางลพบุรี
ปรางค์แขก เป็นเทวสถานที่มีสถาปัตยกรรมแบบขอมที่โดดเด่นอีกแห่งหนึ่งของลพบุรี โบราณสถานกลางใจเมืองที่ยังคงรักษาสภาพเอาไว้ได้อย่างน่าทึ่งว่า กาลเวลาจากพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงพุทธศตวรรษนี้ เป็นพันปี ก็ยังคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาได้อย่างไร
สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปรางค์แขก” นั้น เนื่องจากที่นี่เป็นงานก่อสร้างด้วยศิลปะเขมรแบบพะโค อีกทั้งดั้งเดิมยังเป็นเทวสถาน มีหลักฐานยืนยันว่า ที่นี่เป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู นั่นคือฐานศิวลึงค์ ที่ยังคงเหลือซากปรักหักพังอยู่ในเทวสถานแห่งนี้นั่นเอง
องค์ประกอบของเทวสถานปรางค์แขก ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ต่างขนาด องค์กลางใหญ่ที่สุด อาจมองว่าคล้ายปรางค์สามยอด หากมีความต่างที่ปรางค์ทั้งสามองค์นี้ อิสระต่อกันไม่มีฉนวนเชื่อมต่อ เพียงเรียงกันจากเหนือไปใต้ ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออก จะสังเกตเห็นว่า องค์ปรางค์มีทางเข้าทางเดียว ที่เหลือเป็นลักษณะประตูหลอกมีการปิดทึบไว้ ปรางค์แห่งนี้ไม่มีหน้าบันหรือทับหลัง ด้านใน ในส่วนของเพดาน เป็นสีขาวพื้นและมีลวดลายเขียนปิดทอง บริเวณพื้นมีฐานอิฐที่ก่อขึ้นมาสูงราวครึ่งเมตร ที่มีการสันนิษฐานว่า นี่คือฐานที่ตั้งของ “ศิวลึงค์” ตามความเชื่อของฮินดู
งานสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่น่าศึกษา ก่อด้วยอิฐขัดเรียบ ขนาดใหญ่ ไม่ใช่หินศิลาแลงซึ่งมีความแข็งแรงเนื่องจากมีส่วนผสมของออกไซด์เหล็ก อะลูมิเนียม ฯลฯ ตามธรรมชาติ แต่อิฐขัดเรียบของปรางค์แขกก็มีความแข็งแรงไม่แพ้กัน ไม่เช่นนั้นคงไม่คงอยู่จนทุกวันนี้ จึงเป็นความน่าทึ่งเรื่องความประณีตตลอดจนความรอบรู้ของการก่อสร้างของช่างในอดีตเป็นอย่างมากที่สร้างงานก่ออิฐได้แข็งแรงขนาดนี้ โดยไม่ต้องอาศัยปูนเป็นตัวฉาบช่วย
การบูรณะ มีการสันนิษฐานว่า เทวสถานปรางค์แขกแห่งนี้ มีการบูรณะครั้งใหญ่ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากมีวัสดุ รวมถึงรูปแบบที่เป็นแนวนิยมในสมัยนั้น ได้แก่ ประตูทางเข้าที่มีลักษณะรูปโค้งแหลม รวมถึงร่องรอยของปูนที่กระเทาะแตกหักแล้วบนตัวปรางค์ก็คาดว่าเพิ่มเติมขึ้นภายหลัง กับหลักฐานการสร้างวิหารขนาดเล็กหน้าปรางค์แขก มีลักษณะเป็นโบสถ์พราหมณ์ หน้าจั่วลายปูนปั้น หน้าต่างรูปแบบโค้งสไตล์ตะวันตก ส่วนทางทิศใต้ของปรางค์ มีการสร้างถังเก็บน้ำประปา ซึ่งมีการพัฒนาจากการรับวัฒนธรรมจากยุโรปมาจากการมีสัมพันธไมตรีกันในยุคนั้น
บริเวณปรางค์แขกแห่งนี้ มีป้ายขนาดใหญ่ที่แนะนำเทวสถานปรางค์แขกให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติได้รู้จัก อีกทั้งทางจังหวัดลพบุรี มีการจัดงานประจำปีตามโอกาส ณ บริเวณนี้ ที่นี่จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เทวสถานปรางค์แขกจะมีอายุยืนนานต่อไป เนื่องจากได้รับการทะนุบำรุงรักษาจากกรมศิลปากรตามที่มีประกาศการขึ้นทะเบียนเทวสถานปรางค์แขกเป็น “โบราณสถาน” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2479 นับเป็นโชคดีของอนุชนรุ่นหลังที่บรรพบุรุษเห็นคุณค่าของโบราณสถานแห่งนี้ที่บอกเล่าความเป็นมาในอดีต ความรุ่งเรืองเรื่องสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม และการเชื่อมสัมพันธไมตรีอย่างแน่นแฟ้นกับต่างประเทศ
ที่ตั้ง
ใกล้ตลาดสด ถนนวิชาเยนทร์ ตำบล ท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี ลพบุรี 15000
ค่าใช้จ่าย
ฟรี
เวลาทำการ
เข้าชมได้ทุกวันตลอดเวลา
วิธีการเดินทาง
1. เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางกาญจนาภิเษก ถนนทางคู่ขนาน วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ตัดเข้าถนนหมายเลข 9 ไปเข้าถนนหมายเลข 32 ไปถึงเส้นถนนหมายเลข 3027 ก่อนเลี้ยวเข้าลบ.4003 ปรางค์แขกอยู่ในเมือง ติดตลาด
2. เดินทางด้วยรถไฟ จากสถานีหัวลำโพงจนถึงสถานีรถไฟลพบุรี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางหรือรถรับจ้าง
3. เดินทางด้วยรถตู้ จากท่าอนุสาวรีย์ชัย หมอชิต หรือรังสิต ลองเลือกที่ใกล้ที่สุด
4. เดินทางด้วยรถสาธารณะ มีรถประจำทางทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศจากสถานีหมอชิตไปลงที่ลพบุรี ทุกวัน วันละหลายเที่ยว
เมื่อถึงลพบุรีแล้ว การต่อรถไปปรางค์แขกสะดวกมาก เพราะอยู่ในเมือง ติดตลาด มีรถประจำทางผ่าน