Site icon Go Out ไปเที่ยวกันเถอะ

อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์

อนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์: สถานที่ระลึกถึงผลงานและอุดมการณ์ของ ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนเดียวของประเทศไทย พร้อมอนุสาวรีย์แปลกตาที่แสดงถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และเรือนแพริมน้ำที่ระลึกถึงสถานที่เกิดของท่าน ในคลองเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์

ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์คือใคร

            ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์หรืออำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ดร. ปรีดี เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ท่านเคยเป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย และเป็นผู้นำเสรีไทยต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ครองราชย์ ดร. ปรีดีก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบ๊งค์ชาติ) และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอีกด้วย

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ในหลวงรัชกาลที่ 8 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่อง ดร.ปรีดี พนมยงค์ขึ้นเป็นรัฐบุรุษอาวุโส เนื่องจากเป็นผู้นำทางการเมืองและเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ปฏิบัติราชการด้วยความจงรักภักดีและซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา โดยผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสในประเทศไทยมีเพียง ดร. ปรีดี พนมยงค์ คนเดียวเท่านั้น

ดร. ปรีดี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 สิริรวมอายุได้ 82 ปี และในปี พ.ศ. 2542 องค์การยูเนสโกก็ได้ประกาศให้ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก

ประวัติอนุสรณ์สถาน

หลังจากที่ศ. ดร. ปรีดี พนมยงค์ ถึงแก่อสัญกรรม เอกสาร เครื่องใช้และผลงานของท่านมากมาย ได้ถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกระจายอยู่ที่ตึกโดมและห้องสมุดปรีดี พนมยงค์ ต่อมาศิษยานุศิษย์และผู้เคารพในอุดมการณ์ของท่านเห็นว่าควรรวบรวมเรื่องราวชีวิตและอุดมการณ์ของท่านไว้ในสถานที่เดียวกัน ประกอบกับ ดร.ปรีดี ถือกำเนิดในเรือนแพ ริมคลองเมืองใกล้วัดพนมยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงดำริจัดตั้งพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานขึ้นที่นี่

ต่อมาญาติของ ดร.ปรีดี ได้มอบที่ดินริมคลองเมือง ตรงข้ามวัดพนมยงค์ ใกล้บริเวณที่ท่านเกิดรวมเพื่อจัดตั้งอนุสรณ์สถานแห่งนี้ อนุสรณ์สถานสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2529 และอยู่ในความดูแลของมูลนิธิปรีดี พนมยงค์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ทางมูลนิธิมีมติเอกฉันท์จากที่ประชุมใหญ่ให้มอบอนุสรณ์สถานแห่งนี้ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ดูแล เพื่อทำให้อนุสรณ์สถานและอุดมการณ์ของ ดร. ปรีดีเป็นที่รู้จักแก่อนุชนคนรุ่นหลังทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่อไป

            สิ่งที่น่าสนใจภายในอนุสรณ์สถาน

  1. เรือนไทยพิพิธภัณฑ์

เรือนหลังนี้ปลูกอยู่ที่ปลูกอยู่ริมน้ำ ทางเข้าเขียนว่า ‘บ้านนายปรีดี’ เรือนหลังนี้แต่เดิมเป็นเรือนแพทรงปั้นหยา อายุกว่า 100 ปี ภายหลังได้นำขึ้นบกและเสริมเสาใต้ถุนสูง จำลองเป็นบ้านของ ดร.ปรีดี ภายในมีห้องครัว และห้องรับประทานอาหาร ห้องนอน และห้องนั่งเล่น

  1. เรือนไทยหอประชุม

เรือนหลังนี้เดิมเป็นเรือนแพของญาติ ดร.ปรีดี อายุ 120 ปี เดิมอยู่ในคลองเมือง ติดกับเรือนแพที่ท่านเกิด แต่เพราะเรือนแพที่ท่านเกิดสูญสลายไปแล้ว ทางอนุสรณ์สถานได้เรือนแพหลังนี้มาแทน จึงนำขึ้นมาปลูกสร้างบนบกและเปลี่ยนหลังคาเป็นกระเบื้อง เรือนหลังนี้เป็นที่จัดแสดงผลงานและจุดยืนอุดมการณ์ของท่าน

  1. อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์

อันที่จริงอนุสาวรีย์แห่งนี้ หากจะเรียกให้ถูกควรเรียกว่าอนุสาวรีย์ ‘อุดมการณ์’ ของ ปรีดี พนมยงค์ เพราะไม่ใช่รูปเหมือนหรือรูปปั้นของ ดร.ปรีดี แต่เป็นเสา 6 ต้นในสระกลม โดยเสาทั้ง 6 ต้นนี้รองรับหลังคาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ บนหลังคามีไฟส่องสว่างลงมา โดยมีความหมายดังนี้

3.1 เสา 6 ต้น เป็นสัญลักษณ์แทนหลักการ 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษา หลักการทั้ง 6 นี้ได้รับการอ้างอิงถึงบ่อยครั้งในรัฐพิธีต่างๆ ในสมัยนั้น

3.2 หลังคา หลังคามีไฟส่องลงมาอยู่ตลอดเวลา เหมือนอุดมการณ์ของท่านที่ไม่เคยมอดไหม้ อย่างไรก็ดีมีผู้ตีความว่าหลังคาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นตัวแทนของรัฐธรรมนูญ โดยมีความหมายว่ารัฐธรรมนูญต้องยืนอยู่บนหลัก 6 ประการนั่นเอง

3.3 สระกลม ความสงบนิ่งของน้ำในสระเป็นสัญลักษณ์แทนสันติภาพ

Exit mobile version