Site icon Go Out ไปเที่ยวกันเถอะ

รอยพระพุทธบาท วัดเขาดีสลัก 

Photo by Charin ninsu from commons.wikimedia.org/wiki/File:วัดเขาดีสลัก_-_panoramio_(3).jpg [CCSA2.0]

วัดเขาดีสลัก: กราบรอยพระพุทธบาท สมัยทวารวดี ที่เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมสักการะพ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตร และพระถ้ำเสือ พระพุทธรูปนูนต่ำที่สร้างจากรูปลักษณ์ของพระถ้ำเสือสมัยทวารวดี นอกจากนี้ที่วัดเขาดีสลักยังมีเจดีย์พันปี สมัยอู่ทองสุวรรณภูมิ จุดชมวิว 360 องศา และระฆังบุญ 72 ระฆังให้นักท่องเที่ยวได้ตีส่งบุญอีกด้วย

วัดเขาดีสลักเป็นวัดที่สร้างขึ้นโดยชาวบ้าน และ ฯพณฯ ท่าน บรรหาร ศิลปะอาชา ได้เข้ามาปรับภูมิทัศน์และร่วมสร้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ โดยทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากมีการค้นพบรอยพระพุทธบาทสมัยทวารวดี โดยชาวบ้านที่เป็นลูกหลานของผู้ค้นพบรอยพระพุทธบาทได้เล่ากันปากต่อปากมาหลายกระแส

กระแสแรกเล่าว่ารอยพระพุทธบาทเดิมอยู่ที่ถ้ำละมุด ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ปฏิบัติของฤาษี ในยุคนั้นมีการค้นพบพระถ้ำเสือ พระสมัยทวารวดี ที่ถ้ำเสือ วัดเขาถ้ำเสือ ซึ่งอยู่บนเขาเทือกเดียวกัน หลังจากนั้นก็พบพระถ้ำเสือกระจายอยู่ทั่วเทือกเขา ด้วยกระแสนี้ชาวบ้านจึงออกขุดหาพระถ้ำเสือ กระทั่งมาถึงถ้ำละมุด จึงพบรอยพระพุทธบาทจำลอง สมัยทวารวดี ชาวบ้านไม่ได้สนใจ ยกพระพุทธบาทไปมา เพื่อจะค้นหาพระถ้ำเสือ และพบพระรายล้อมรอยพระพุทธบาทมากมาย ต่อมาจึงได้ช่วยกันย้ายพระพุทธบาทขึ้นมาบนยอดเขา ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานในปัจจุบัน

กระแสที่สองเล่าว่าประมาณปี พ.ศ. 2470 มีชาวบ้านพบรอยพระพุทธบาทที่ยอดเขา บริเวณที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นรอบรอยพระพุทธบาดเต็มไปด้วยพระถ้ำเสือ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 กรมศิลปากรได้เข้ามาพิสูจน์รอยพระพุทธบาท กระทั่งทราบว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นในสมัยทวารวดี จึงได้สร้างมณฑปครอบไว้และประกาศให้บริเวณนี้ทั้งหมดเป็นโบราณสถาน จากนั้นในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นประธานในพิธียกพุ่มข้าวบิณฑ์ยอดพระมณฑปและสมโภชรอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก

จากการศึกษาของกรมศิลปากรพบว่าวัดถ้ำเขาดีสลักเป็นสถานที่ศักดิสิทธิ์มาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวปี พ.ศ. 1000 – 1400 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น เจดีย์ทวารวดี รวมไปถึงถ้ำกระดูก ที่มีภาพวาดรุกขเทวดาที่ผนังถ้ำ ลักษณะคล้ายเป็นทวารบาลใกล้กับประตูปิดปากคูหาหนึ่งในถ้ำ คูหานี้ เรียกกันว่าถ้ำกระดูก เพราะเต็มไปด้วยโครงกระดูกมนุษย์และมีพระถ้ำเสือกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

เชื่อกันว่าสถานที่ศักดิสิทธิ์ในพื้นที่ของวัดถ้ำเขาดีสลักร้างตั้งแต่เมื่อเมืองอู่ทอง (สุวรรณภูมิ) ร้าง แต่ก็ยังมีร่องรอยการบูรณะ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมีการพยายามฟื้นฟูวัดมาตลอด กระทั่งชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นอีกครั้ง และได้รับการจัดตั้งเป็นวัดถ้ำเขาดีสลักในปี พ.ศ. 2470 โดย ฯพณฯ ท่าน บรรหารศิลปะอาชาได้ให้นายอำเภออู่ทองในขณะนั้นไปนิมนต์พระรัตนเวที (พีร์ ชินวโร) มาเป็นเจ้าอาวาส

วัดเขาดีสลักเป็นวัดที่อยู่บนเทือกเขา นักท่องเที่ยวจะต้องเดินขึ้นไปบนเขา แต่ละจุดจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. รอยพระพุทธบาท เนื่องจากในสมัยก่อน ศิลปะวิทยาการยังไม่เจริญก้าวหน้า จึงยังไม่สามารถสร้างรูปเคารพได้ พุทธศาสนิกชนจึงสร้างสัญลักษณ์ทางวัตถุขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธองค์ เช่น ใบโพธิ์ ดอกบัว และพระพุทธบาท โดยพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คือ พระพุทธบาทคันธาระ พ.ศ. 100 สร้างเป็นรอยเท้ามีธรรมจักรอยู่กลางฝ่าเท้า อิทธิพลการสร้างพระพุทธบาทแบบคันธาระ เข้ามาในทวารวดี ทำให้ทวารวดีสร้างพระพุทธบาทที่มีธรรมจักรตรงกลางด้วยเช่นเดียวกัน กระทั่งมีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นครั้งแรก สัญลักษณ์อื่นๆ รวมถึงพระพุทธบาทจึงค่อยๆ หมดไปจากชมพูทวีป แต่กลับเป็นที่นิยมในทวารดีไม่เปลี่ยนแปลง

รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก เชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1000 – 1400 มีธรรมจักรพร้อมกรงธรรมจักร 16 ซี่ กลางรอยพระพุทธบาท มีลาย 108 มงคล มีข้อนิ้ว 2 ข้อ ข้อแรกเป็นลายขมวดก้นหอย ตามมหาบุรุษลักษณ์ในคัมภีร์ลิลิตวิสูตรฉบับภาษาสันสกฤต และปฐมสมโพธิกาถาฉบับภาษาบาลี ข้อที่สองเป็นลายก้นขด ตามที่นิยมในสมัยทวารวดี จุดเด่นของพระพุทธบาทวัดเขาดีสลัก คือพระพุทธภาพนูนขึ้น ไม่ใช่ยุบตัวลงดังเช่นพระพุทธบาทโดยทั่วไป

  1. เจดีย์พันปี บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์แห่งนี้แต่เดิมเป็นเพียงซากฐาน ยอดของเจดีย์พังลงมาทั้งหมด กรมศิลปากรได้บูรณะส่วนฐานให้สามารถคงรูปอยู่ได้ เจดีย์ดังกล่าวเป็นเจดีย์สมัยอู่ทอง คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าสมัยอู่ทองคือ ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ทว่าในความเป็นจริงแล้วอู่ทองสุวรรณภูมิเป็นยุคถัดจากทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 17 ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้นเพิ่งจะสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1893 สมัยอู่ทองจึงเก่าแก่กว่าอยุธยาถึง 193 ปี

สำหรับเจดีย์พันปีนี้ มีอายุจริงประมาณ 862 ปี (นับถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2562) โดยเชื่อกันว่าภายในเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านทั่วไป หลังจากที่มีการค้นพบเจดีย์ ในปี พ.ศ. 2542 เจดีย์ได้พังลงมา จึงมีการบูรณะขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ด้วย

  1. พ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิต พ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตประดิษฐานอยู่ในอาศรมพรหมณ์นิมิต หรือถ้ำละมุดเดิม พ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตร เป็นพรหมฤาษี สถิตอยู่ในพรหมโลก รูปกายของท่านเป็นฤาษีที่มี 4 หน้า 4 กร บางตำนานเล่าว่าพ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตรเป็นผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาความรู้ให้กับฤาษีหลายๆ องค์ รวมถึงเป็นอาจารย์ของผู้ก่อตั้งเมืองอู่ทอง (เมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดีเดิม) อีกด้วย เชื่อกันว่าพ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านสามารถประทานเงินทองโชคลาภจนแทบจะเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภของชาวสุพรรณเลยทีเดียว สำหรับพ่อปู่ในถ้ำละมุด ที่วัดเขาดีสลักนี้ ฯพณฯ บรรหาร ศิลปะอาชาและคณะเป็นผู้สร้าง โดยสลักจากหินทรายสีน้ำตาล และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2552
  2. พระถ้ำเสือ เดิมพระถ้ำเสือเป็นพระพิมพ์ดินเผาขนาดเล็ก มวลสารเป็นดินเผาผสมกรวด มีทั้งหมด 5 ขนาด คือ จิ๋ว, ต้อ (อ้วนเตี้ย ป้อมๆ), เล็ก, กลาง และใหญ่ แต่ละรุ่นแสดงความรู้สึกของพระพุทธองค์ที่ทรงต่อสู้กับพญามาร โดยพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ 4 จุด ได้แก่ ถ้ำละมุด ถ้ำประทุน เจดีย์พันปี และรอยพระพุทธบาท เชื่อกันว่ามีพุทธคุณด้านแคล้วคลาด ลาภสักการะ เมตตามหานิยม และปราบศัตรู พระถ้ำเสือดั้งเดิมลักษณะเป็นพระเครื่องลายนูนต่ำ ไม่ใช่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ อย่างไรก็ดี เนื่องจากวัดเขาดีสลักก็เป็นอีกหนึ่งกรุพระถ้ำเสือ จึงมีการสร้างพระพุทธรูปและพระประธานลายนูนต่ำลักษณะเดียวกับพระถ้ำเสือดั้งเดิมขึ้น เพียงแต่ขยายให้มีขนาดใหญ่โตสมกับที่เป็นพระพุทธรูป ในวัดถ้ำเขาดีสลักมีพระพุทธรูปถ้ำเสือสองที่ คือ พระประธานถ้ำเสือ ประดิษฐานอยู่ในมณฑป ชั้นที่ 2 ของวัด เป็นพระพุทธรูปนูนต่ำ แกะสลักจากหินทรายสีเขียว หนัก 35 ตัน และ 2. ถ้ำละมุด ที่อาศรมพรหมนิมิตร ทางขวาของพ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าสักการะได้ทั้งสองที่
  3. สักการะพระพุทธรูปภายในถ้ำเสือ ภายในถ้ำละมุด ทางซ้ายของพ่อปู่ฤาษีพรหมนิมิตรจะมีโพรงถ้ำคล้ายทางเดินทอดตัวสู่คูหาด้านในที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ถ้ำเสือ” ว่ากันว่าเดิมเป็นที่ๆ เสือชอบมาอาศัยนอนหลบแสงตะวัน ทว่าปัจจุบันได้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเอาไว้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปในถ้ำเสือเพื่อสักการะพระพุทธรูปดังกล่าวได้
  4. ตีระฆัง 72 ใบ หากนักท่องเที่ยวเดินขึ้นบันไดนาค และใช้บันไดตลอดจนถึงมณฑปรอยพระพุทธบาท โดยไม่ใช้ทางรถ จะเห็นระฆังเรียงรายอยู่ตามสองข้างทางบันได ระฆังทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 72 ใบ สร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระชนมายุครบ 72 ชันษา นับเป็นไฮไลท์โดดเด่นที่นั่งท่องเที่ยวสามารถเซลฟี่และลั่นระฆังบุญให้ผู้ที่อยู่ด้านล่างอนุโมทนาบุญด้วย
  5. พระสังกัจจายน์ ครึ่งทางก่อนถึงมณฑปพระพุทธบาทจะมีวิหารพระสังกัจจายน์ ภายในประดิษฐานพระสังกัจจายน์และพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยพระสังกัจจายน์เป็นพระพุทธสาวกที่ยอมสละรูปกายงามให้อ้วนพุงพลุ้ยเพื่อที่จะได้ไม่มีสตรีหรือบุรุษใดหลงรูปของตน
  6. ภาพนูนต่ำ ที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นตีนเขา มีภาพนูนต่ำแกะสลักจากหินทรายเรียงรายอยู่กลางแจ้ง แต่ละภาพเล่าพุทธประวัติบางช่วงบางตอน เช่น พุทธประวัติช่วงโปรดองคุลีมาลย์ ปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ หรือแม้แต่ช่วงที่ทรงตรัสรู้ ซึ่งภาพนูนต่ำเหล่านี้ แม้จะทำขึ้นใหม่ แต่มีความงดงามอ่อนช้อยน่าชมเป็นอย่างยิ่ง
  7. จุดชมวิว 360 องศา นักท่องเที่ยวหลายคนมักคิดว่ามณฑปพระพุทธบาทเป็นจุดสูงสุดของวัดเขาดีสลัก แต่ความจริงแล้วนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นบันไดไปอีก 200 ขั้น สู่จุดชมวิว 360 องศาได้ ที่นี่เป็นจุดชมวิวมุมสูง ที่สามารถมองเห็นวิว อ. อู่ทอง ได้ไกลสุดลูกหูลูกตา
Exit mobile version