Site icon Go Out ไปเที่ยวกันเถอะ

วัดไผ่โรงวัว

Photo by Piyawat Chongkaichak from commons.wikimedia.org/wiki/File:วัดไผ่โรงวัว_(สุพรรณบุรี)_02.jpg [CCSA2.0]

วัดไผ่โรงวัว วัดที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมนรกภูมิและแดนสวรรค์ได้ โดดเด่นด้วยวิหารหนึ่งร้อยยอด ปราสาท 3 ฤดูจำลองของเจ้าชายสิทธัตถะ และสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง จำลองจากสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพานในเนปาลและอินเดีย นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธโคดม พระพุทธรูปสำริดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เป็นทุ่งเลี้ยงวัว ยายชูได้บริจาคที่ดิน 20 ไร่เพื่อสร้างที่พักสงฆ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2569 เพื่อเป็นที่พักของพระธุดงค์ ต่อมาเริ่มมีพระสงฆ์อยู่ประจำที่นี่จนมีลักษณะคล้ายสำนักสงฆ์ เนื่องจากที่พักสงฆ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านไผ่โรงวัว ชาวบ้านจึงเรียกกันด้วยภาษาปากว่า ‘วัดไผ่โรงวัว’ ต่อมาชาวบ้านได้นิมนต์หลวงพ่อขอม จากวัดบางสาน ต. บางตะเคียน อ. สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มาประจำที่นี่พร้อมหลวงพ่อขาว โดยหลวงพ่อขาวได้เป็นหัวหน้าสงฆ์ที่นี่ ต่อมาหลวงพ่อขอมได้ไปศึกษาปริยัติที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ. สุพรรณบุรี เป็นเวลานาน กระทั่งหลวงพ่อขาว หัวหน้าสงฆ์ในขณะนั้นลาสิกขา หลวงพ่อรอดหัวหน้าสงฆ์องค์ถัดมาก็ลาสิกขาอีก ชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อขอมจากวัดพระศรีมหาธาตุให้มาเป็นหัวหน้าสงฆ์ในที่พักสงฆ์แห่งนี้ หลวงพ่อขอมได้พัฒนาที่พักสงฆ์อย่างยิ่งยวด โดยขยายพื้นที่จาก 20 ไร่ เป็น 248 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา กระทั่งที่พักสงฆ์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวัด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2489 มีชื่อว่าวัดโพธาราม ทว่าชาวบ้านกลับเรียกติดปากว่าวัดไผ่โรงวัว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2533 วัดจึงเปลี่ยนชื่อจากวัดโพธารามเป็นวัดไผ่โรงวัวอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. พระพุทธโคดม เป็นพระพุทธรูปสำริดโลหะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หลวงพ่อขอมเป็นผู้สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 2502 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2519 โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายกพระเกศมาลา ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2512
  2. พระกกุสันโธ พระพุทธรูปปางมารวิชัย สีขาวปลอดทั้งองค์ ขนาดหน้าตัก 20 วา (40 เมตร) เป็นพระพุทธรูปกลางแจ้งขนาดใหญ่ที่เหมือนเป็นแลนด์มาร์กของวัดไผ่โรงวัว พระกกุสันโธสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 และแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2523 หน้าองค์พระมีฆ้องใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่นี่ด้วย โดยค้องปากนี้มีขนาดปากกว้างถึง 3 เมตร ด้านหลังขององค์พระมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเกือบ 500 องค์ ใต้ฐานเป็นที่บรรจุอัฐิของผู้ล่วงลับ
  3. สังเวชนียสถาน 4 (จำลอง) สังเวชนียสถาน 4 คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนาและปรินิพพาน ซึ่งที่วัดไผ่โรงวัวได้จำลองสถานที่ทั้ง 4 ในอินเดียและเนปาลมาไว้ในวัด ประกอบไปด้วย
    • สวนลุมพินี สวนลุมพินีเป็นสถานที่ประสูติ อยู่ในประเทศเนปาล เมื่อครั้งที่พระนางสิริมหามายากลับเมือง เกิดเจ็บครรภ์คลอด จึงตั้งพลับพลาในสวนป่าลุมพินี และยืนน้าวกิ่งสาละประสูติพระโอรสที่สามารถก้าวเดินได้ถึง 7 ก้าวในทันที ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชได้ปักเสาแสดงบริเวณที่มีพระประสูติการเอาไว้ หลังจากนั้นมีการสร้างมายาเทวีวิหารขึ้น เป็นวิหารสีขาวปลอด มีรอยพระพุทธบาทและรูปเคารพพระนางสิริมหามายาพร้อมสิทธัตถะกุมารอยู่ภายใน ที่วัดไผ่โรงวัวสร้างเป็นปราสาทพุทธมารดา เป็นปราสาทสีขาว ขนาดย่อมกว่ามายาเทวีวิหาร ภายในมีรูปปั้นพุทธมารดาและเจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกมีพระประสูติกาล
    • เจดีย์พุทธคยา พุทธคยาคือสถานที่สำคัญในศาสนาพุทธ ที่อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ประกอบไปด้วยพระมหาโพธิ์เจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของบริเวณที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ พระแท่นวัชรอาสน์ที่ประทับตรัสรู้ใต้ต้นมหาโพธิ์ และอามิสสเจดีย์ ที่ซึ่งพระพุทธองค์ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์ โดยเจดีย์จำลองที่วัดไผ่โรงวัว คือ พระมหาโพธิ์เจดีย์
    • สถูปสารนารถ สารนาถที่แปลว่าป่าอันเป็นที่อยู่ของกวาง รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า ป่าอันเป็นที่ชุมนุมของฤาษี ที่นี่พระพุทธองค์ได้แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีทั้ง 5 และที่ตรงนี้เองพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างธรรมเมกขสถูปขึ้น หากอยากเห็นธรรมเมกขสถูป ไม่ต้องไปถึงสารนาถ รัฐอุตตรประเทศ ในอินเดีย เพราะที่วัดไผ่โรงวัวมีสถูปจำลองไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้ว
    • กุสินารา ที่เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ตรงข้ามป่าสาละ เป็นสถานที่ปรินิพพาน พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระสถูปปรินิพพาน คร่อมแท่นปรินิพพานเอาไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน ที่วัดไผ่โรงวัวก็จำลองสถานที่ดังกล่าวเอาไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานเช่นกัน
  4. เมืองนรกภูมิ ที่วัดไผ่โรงวัวมีนรกจำลอง ที่มีรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ของสัตว์นรกประเภทต่างๆ กำลังรับวิบากกรรมอันแสนทุกข์ทรมานในนรก มีป้ายติดบอกว่า คนทำผิดอะไร จะต้องรับวิบากกรรมอย่างไร เช่น ผิดลูกผิดเมียจะถูกลงทัณฑ์ด้วยการปีนต้นงิ้ว สัตว์นรกนอกจากจะน่ากลัวแล้ว ยังมีทั้งเลือดทั้งเครื่องในออกมากองชวนสยดสยองจนไม่กล้าทำบาป ถ้าจะมีอะไรช่วยลดความสยดสยองลงได้ คือ รูปปูนปั้นพระสงฆ์สีทองอร่าม ที่แสดงการโปรดเวนัยสัตว์ของพระอริยสงฆ์
  5. เมืองสวรรค์ หลังจากผ่านเมืองนรกแล้ว ก็ก้าวเข้าสู่เมืองสวรรค์ ก่อสร้างเป็นอาคาร 3 ชั้นอันแสนสวยงาม หันไปทางไหนก็มีแต่สิ่งเจริญหูเจริญหาตั้งเทพบุตรสีทองอร่าม และนางอัปสรแต่งกายงดงาม
  6. นิโคธารามพุทธวิหาร (วิหารร้อยยอด) วิหารกลางน้ำ ศิลปะไทยผสมอินเดีย มียอดปราสาท หน้าบัน และบันแถลงหลายแห่ง จนเป็นที่มาของชื่อวิหารร้อยยอด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานพร พร้อมจิตกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพระพุทธประวัติ
  7. ปราสาท 3 ฤดูจำลองและสวนเมืองกบิลพัสดุ์จำลอง ที่นี่มีปราสาท 3 ฤดูของเจ้าชายสิทธัตถะจำลองไว้ให้สาธุชนได้ชม ชั้นบนสุดของปราสาทเป็นจุดชมวิวมุมสูง สามารถมองเห็นสวนกบิลพัสดุ์จำลองที่อยู่ด้านหลังของปราสาทได้
  8. มณฑปหลวงพ่อขอม ภายในบรรจุสรีระหลวงพ่อขอมที่ไม่เน่าไม่เปื่อยในโลงติดกระจกใส ว่ากันว่าเกศาของท่านยังยาวและต้องมีการปลงเกศาอยู่ตลอดมา
Exit mobile version