/ อยุธยา / วัดพระงาม คลองบางเดื่อ
แนะนำที่พักกาญจนบุรี อัพเดตล่าสุด

วัดพระงาม คลองบางเดื่อ


วัดพระงาม วัดมอญดั้งเดิม สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง โดดเด่นด้วยจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถโบราณ และภาพวาดฝาผนังในมณฑปสมัยรัตนโกสินทร์ที่เชื่อว่าวาดโดยขรัวอิน สุดยอดจิตกรในสมณเพศ กราบพระพุทธรูปโบราณและชมเจดีย์ที่มีก้านฉัตรไม่เหมือนที่ใดในอยุธยา

วัดพระงามสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2122 สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดได้กลายเป็นวัดร้าง กระทั่งได้รับการบูรณะใหม่อีกครั้งในสมัยกรุงธนบุรีและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2401

เชื่อกันว่าวัดพระงามแห่งนี้แต่เดิมเป็นวัดมอญ เพราะนอกจากจะอยู่ในชุมชนมอญแล้ว ยังมีเสาหงส์อยู่หน้าวัด โดยเสาหงส์ก็คือเสาสูงที่มีรูปหงส์อยู่ปลายเสา เนื่องจากแต่ชาวสะเทิม (ชาวมอญดั้งเดิม) เป็นกลุ่มชนที่ตั้งกรุงหงสาวดีขึ้น ตำนานเล่าว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ 8 ปีทรงเสด็จมายังที่รกร้างหางหนึ่งเห็นหงส์เล่นน้ำอยู่จึงทรงทำนายว่าตรงนี้จะกลายเป็นเมืองชื่อหงสาวดี ชาวสะเทิมจึงถือว่าหงส์เป็นสัญลักษณ์ของกรุงหงสาวดี เมื่อกรุงหงสาวดีถูกพระเจ้าอลองพญาตีแตก จนมอญต้องสิ้นชาติ ชาวมอญที่หนีมาอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน รวมตัวกันเป็นชุมชนได้ที่ใดก็จะตั้งเสาหงส์ขึ้น

นอกจากเสาหงส์แล้ว วัดพระงามยังมีช้างเอราวัณกระจายอยู่ในวัด ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นวัดไทยโดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ตอนกลาง จะไม่สร้างช้างเอราวัณไว้ในวัด มีแต่วัดมอญเท่านั้นที่สร้าง อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาว่าพระสมุห์พ่วง เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด มักเดินทางไปธุดงค์ที่พม่าทุกปี กระทั่งมรณภาพที่พม่า ด้วยเหตุนี้จึงสันนิษฐานได้ว่าวัดพระงามเป็นวัดมอญและมีความเกี่ยวข้องแน่นแฟ้นกับชาวรามัญมาแต่เดิม

            สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด

  1. โบสถ์ โบสถ์ของวัดพระงามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภายในโบสถ์มีสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะพลาดชมและกราบสักการะไม่ได้ คือ
    • จิตรกรรมฝาผนัง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดมีลักษณะเป็นภาพแบน วัตถุใกล้และไกลไม่มีความแตกต่างทางมิติ ซึ่งเป็นลักษณะของภาพวาดสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย ภาพวาดส่วนใหญ่เป็นพระพุทธเจ้าขณะกำลังทอดพระองค์ในลักษณะสีหไสยาสน์ ผนังด้านหนึ่งแสดงพุทธประวัติช่วงโปรดอสุรินทราหู และพุทธประวัติช่วงปรินิพพาน ส่วนอีกด้านเป็นพระสาวกนั่งและยืนพิจารณาสังขาร โครงกระดูก และศพ

  • พระพุทธรูปโบราณ

พระประธานของโบสถ์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง มีพระพุทธรูปสมัยอยุธยา 11 องค์และสมัยรัตนโกสินทร์อีก 5 องค์ รายล้อมพระประธาน พระพุทธรูปเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายปาง อาทิ ปางรำพึง ปางห้ามญาติ ปางมารวิชัย ปานาคปรก ปางสมาธิ และพระสาวก เช่น พระโมคคัลลา พระสารีบุตรอีกด้วย

  1. เจดีย์ เจดีย์ข้างพระอุโบสถ เป็นเจดีย์ทรงระฆัง บนฐานแปดเหลี่ยม ซึ่งฐานแปดเหลี่ยมนี้นิยมมากในช่วงอยุธยาตอนต้นถึงตอนกลาง จุดเด่นของเจดีย์องค์นี้ คือ ก้านฉัตร ซึ่งปกติแล้วในสมัยอยุธยา ก้านฉัตรมักมีลักษณะเป็นเสารองรับบัวฝาละมี ใต้เสาก้านฉัตรจะเป็นบัลลังก์ ทว่าเจดีย์แห่งนี้ก้านฉัตรติดกับเรือนธาตุไม่มีบัลลังก์ เจดีย์อยู่ในลักษณะครบถ้วยสมบูรณ์ตั้งแต่หยาดน้ำค้างถึงฐานเชียง
  2. มณฑป มณฑปแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ลักษณะภายนอกคล้ายศิลปะสมัยเดียวกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (กรุงเทพ) มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน และตะวันตก ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองที่มีความศักดิสิทธิ์มาก หากไม่ได้สักการะถือว่ามาไม่ถึง ด้านในของมณฑปมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือมีภาพวาดฝาผนังสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเล่าเรื่องราวของพระเจ้าพิมพิสาร เชื่อว่าเป็นจิตรกรรมฝีมือขรัวอินโข่ง จิตกรในสมณเพศคนแรกของไทยที่ใช้เทคนิคการวาดภาพฝาผนังแบบปริมาตรใกล้ไกล กล่าวคือ วัตถุที่อยู่ใกล้จะใหญ่และคมชัด วัตถุที่อยู่ไกลจะเล็กและเลือนกว่า

ค่าใช้จ่าย

ค่าเข้าชม: ฟรี

เวลาทำการ

เวลาเปิด-ปิด: เปิดทุกวัน 08.00-16.00 น.
หมายเหตุ: เนื่องจากวัดพระงามนี้ไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว หากต้องการเที่ยวชมโบราณสถาน ต้องเรียนเจ้าอาวาสหรือพระในวัดเสียก่อน

วิธีการเดินทาง

            จากเทศบาลนคร พระนครศรีอยุธยาเข้าซอยต้นโพธิ เลี้ยวซ้ายออกถนนเทศบาลเมืองอโยธยา เลี้ยวขวา (ซ้ายจะเป็นซอยตัน) เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 3061 เลี้ยวขวาก่อนถึงองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ เข้าถนน 3053 เบี่ยงซ้ายใช้เส้นทาง 32 เลี้ยวซ้ายผ่านหน้าครัวป้าช่วย กลับรถ เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไป อ. บางปะหัน วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 15 นาที

แผนที่วัดพระงาม คลองบางเดื่อ และสถานที่อื่นๆใน อยุธยา

GPS: 14.435368, 100.563351
- สถานที่ปัจจุบัน - สถานที่แนะนำ - สถานที่อื่นๆ

แชร์ประสบการณ์ตะลอนของคุณได้ที่นี่