วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระนอนแห่งอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระอารามหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 9 วัดอันเป็นที่ระลึกการสร้างเมืองของสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ชมพระปรางค์ประธานที่ประดิษฐานเดิมของเทวรูปพระเจ้าอู่ทองแห่งหอพระเทพบิดร วัดพระแก้ว และพระพุทธไธศวรรย์ พระนอนที่มีลักษณะไม่เหมือนที่ใดในอยุธยา
ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ทรงเคยเสด็จมาตั้งพลับพลาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองถึง 3 ปี จึงเคลื่อนพลไปหนองโสน (บึงพระรามในปัจจุบัน) พระราชพงศาวดารจารึกว่าบริเวณนี้เรียกว่า ‘เวียงเล็ก’ หรือ ‘เวียงเหล็ก’ หลังจากที่ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 1893 แล้วจึงสร้างวัดพุทไธศวรรย์ขึ้นในปี พ.ศ. 1896 บริเวณที่พระองค์ท่านเคยตั้งพลับพลา เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์การตั้งกรุงศรีอยุธยา
วัดพุทไธศวรรย์เป็นหนึ่งในวัดอารามหลวง หลังจากสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง วัดได้ถูกก่อสร้างเพิ่มเติมตลอดมา ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาล้อมพระนคร ก็ตั้งทัพที่วัดพุทไธศวรรย์ เพราะฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาคือเกาะเมือง วัดจึงมีชัยภูมิที่ดีเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาสมเด็จพระเจ้าเสือ พระราชบุตรในพระเจ้าเสือก็ทำพิธีโสกันต์และบวชเป็นสามเณร กระทั่งบวชเป็นภิกษุที่วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์มีความสำคัญมาก ถึงขนาดที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโปรดให้นำราชทูตสิงหล (สังขัณฑนคร หรือที่ไทยเรียกว่าลังกา) ไปกราบพระปรางค์ที่วัดพุทไธศวรรย์
เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 วัดพุทไธศวรรย์ไม่ได้ถูกเผาทำลายจึงมีสภาพสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน และเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เสด็จมาทอดกฐินโดยพระยุหยาตราชลมารคอีกด้วย
กรมศิลปากรได้ประกาศให้วัดพุทไธศวรรย์เป็นโบราณสถานในเดือนมีนาคม 2578 และได้รับการสถาปนาเป็นพระอารารมหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 เนื่องในวโรกาสพัชราภิเษกสมโภช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 (ครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี)
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด
เป็นพระปรางค์ศิลปะลพบุรีที่ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ในจดหมายเหตุราชทูตลังกา (สิงหล) บันทึกไว้ว่าภายในพระปรางค์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริธาตุ มีการสร้างห้องเพื่อให้เดินประทักษิณ (เวียนขวา) รอบพระบรมสาริรกธาตุได้
อันที่จริงมีพระรูปพระเจ้าอู่ทองอยู่ที่มุขด้านหนึ่งของปรางค์ประธาน พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเทพพลภักดิ์ ซึ่งขณะนั้นทรงบัญชาการกรมพระคชบาลอยู่ (กรมพระคชบาลปัจจุบันคือวังช้าง แล เพนียด) ทรงเสด็จออกเพนียดและพบพระรูปดังกล่าวจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 พระองค์ท่านจึงโปรดให้อัญเชิญพระรูปมาหล่อดัดแปลงใหม่เป็นพระพุทธรูป มีนามว่า ‘เทวรูปพระเจ้าอู่ทอง’ ประดิษฐานอยู่ที่หอพระเทพบิดรในวัดพระแก้ว
พระพุทธโฆษาจารย์คือพระราชาคณะฝ่ายคามวาสีฝ่ายขวา เทียบได้กับเจ้าคณะใหญ่คณะเหนือและคณะกลางในสมัยรัตโนโกสินทร์ ภายในตำหนักมีจิตกรรมฝาผนังศิลปะอยุธยาตอนปลาย ผนังทิศเหนือเป็นภาพวาดเรื่องไตรภูมิพระร่วง ทิศใต้เรื่องมารผจญ ทิศตะวันออกเป็นภาพพระพุทธบาททั้ง 5 และทิศตะวันตกเป็นภาพทศชาติ
ซากวิหารโบราณ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นาม ‘พระพุทไธศวรรย์’ อายุ 300 กว่าปี สันนิษฐานว่าเป็นปางปรินิพพานแบบลืมพระเนตร เพราะพระหัตถ์ทอดไปกับหมอน ไม่ได้ตั้งขึ้นรับพระพักตร์เหมือนปางพักผ่อนอิริยาบถและไม่ได้มีหมอนรองใต้รักแร้เหมือนปางโปรดอสุรินทราหู ที่น่าแปลกคือปางปรินิพพานแบบลืมพระเนตรนี้นิยมในพม่า พบประปรายในตอนเหนือของไทย แต่ไม่ค่อยพบในอยุธยา เพราะพระปรางปรินิพพานของไทยจะเป็นแบบหลับพระเนตรเสียส่วนใหญ่
ภายในวัดมีสถานที่ที่น่าเที่ยวชมมากมาย เช่น ศาลจตุคามรามเทพ, พระบรมราชานุสาวรีย์ 3 กษัตริย์ ได้แก่ พระเนศวรมหาราช พระเจ้าอู่ทอง และพระเอกาทศรถ, วิหารพระทรงธรรม และวิหารพระสังกัจจายนะ
ค่าใช้จ่าย
ฟรี
เวลาทำการ
เปิดทุกวัน 08.00-17.30 น.
วิธีการเดินทาง
จากเทศบาลเมืองอยุธยาใช้ถนนเทศบาลเมืองอโยธยา สู่วงเวียนเจดีย์วัดสามปลื้ม ใช้ทางออกที่ 2 สู่ถนน 3477 เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน อย. 2503 ผ่านเทสโก้โลตัส ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวขวาเข้าถนน 3469 ขับไปประมาณ 34 กิโลเมตร เลี้ยวขวาพบวัดพุทไธสวรรค์ ระยะทาง 12.8 กิโลเมตร ใช้เวลา 22 นาที