วัดใหญ่สุวรรณาราม
วัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นวัดเก่าทรงคุณค่าของจังหวัดเพชรบุรีอีกแห่งหนึ่ง มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับยุคกรุงศรีอยุธยา สมกับที่เพชรบุรีเคยเป็นเมืองหน้าด่านสมัยโบราณ
วัดเก่าแห่งนี้มีจุดเด่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และไปชมเป็นขวัญตา เพราะแต่ละที่อายุ 300-400 ปี
ศาลาการเปรียญไม้สัก จากอดีตเป็นตำหนักของพระเจ้าเสือ เมื่อมีการรื้อและนำมาไว้ที่วัดแห่งนี้บานประตูแกะสลักที่มีความงดงาม แต่จะเห็นว่ามีร่องรอยแตก ที่ตามประวัติเล่าว่า ทหารพม่าใช้ขวานจามเพื่อจะจับคนข้างใน ด้านบนสุดจะเป็นช่องโบ๋ยาวพอสมควร แต่ความยาวทั้งหมดที่เป็นรอยนั้นไล่ลงมาเกือบถึงประมาณเอวคนเลย นั่นคือหลักฐานด้านหน้า แต่พอเข้าไปดูด้านในจะพบว่า ประตูของศาลาแห่งนี้มีการดามไม้เอาไว้ กันประตูหลุด แสดงให้เห็นว่าความเสียหายนั้นไม่น้อย
ธรรมมาสน์ยุคกรุงศรีอยุธยา ตั้งอนุรักษ์ไว้ ไม่ได้ใช้งานจริง อายุของธรรมมาสน์นี้ถึง 300 ปี เป็นอย่างน้อย เห็นถึงความสวยงาม ประณีตของคนสมัยโบราณ รวมถึงแสดงถึงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวพุทธเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา
อุโบสถของที่นี่ก็มีความเก่าแก่ สิ่งที่เป็นจุดเด่นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีอายุ 400 ปี ลายและภาพจึงไม่ได้ดูสลักเสลาวิจิตรอย่างจิตรกรรมสมัยใหม่ แต่ความเก่าและหายากนั้น นับเป็นศิลปะที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ และอีกสิ่งที่สำคัญในอุโบสถก็คือ พระพุทธรูปองค์หนึ่งที่มีนิ้วพระบาท 6 นิ้ว ไม่ใช่ 5 นิ้วเหมือนคนทั่วไป และมีป้ายติดไว้อย่างเด่นชัดว่า “พระพุทธรูป 6 นิ้ว (นิ้วพระบาท)”เหตุผลในการสร้างก็คือ เพื่อระลึกว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยมีความสำคัญ เคยเป็นพระประธานของที่นี่ แม้ปัจจุบันมีพระประธานองค์ใหม่ที่ใหญ่กว่าองค์เดิมก็ตาม
หน้าดินของอุโบสถ มีสัญลักษณ์เลข 5 ไทยที่เขียนกลับด้าน ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่เคยเสด็จมาที่นี่
อาคารไม้ทรงเดียวกับอุโบสถ ตั้งอยู่กลางสระน้ำของวัดนี้ เป็นอีกสิ่งที่สะดุดตาผู้พบเห็น ด้วยความเก่า และขนาดกะทัดรัด มีความเก่า และเหมือนเสาจะไม่ครบ มีสะพานเล็กทอดยาวไปถึง นี่คือหอไตรปิฎก หลังเก่าของที่นี่
เจดีย์จุฬามณี เจดีย์สวรรค์ เป็นเจดีย์ในอาคาร มีความงดงาม และมีเจดีย์บริวาร 4 ด้าน พระพุทธรูปประดิษฐานอยู่สองข้างซ้ายขวา และมีพระพุทธรูปปางยืนสีโลหะอยู่ด้านหน้า
รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชแตงโม ในท่านั่งขัดสมาธิประนมมือ เป็นที่เลื่อมใสศรัทธา มีชาวพุทธเวียนมาปิดทองจนไม่เห็นว่าองค์เดิมหล่อด้วยอะไร
ยังมีสิ่งปลูกสร้าง สถูปและเจดีย์ อยู่ในบริเวณวัด ล้วนแต่น่าสนใจ มีประวัติศาสตร์อยู่เบื้องหลัง แวะไปชื่นชมสถาปัตยกรรมโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี กุฏิที่มีลักษณะเป็นเรือนไทย หมู่เรือน ก็ได้รับการอนุรักษ์
ที่นี่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมสถาปัตยกรรมโบราณ อยากเห็นและเท้าความไปถึงเรื่องราวเบื้องหลัง
หอไตรกลางน้ำ
ที่ตั้ง
ตำบล ท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี เพชรบุรี 76000
ค่าใช้จ่าย
ฟรี
เวลาทำการ
เปิดทุกวัน 8.00-18.00 น.
วิธีการเดินทาง
1. เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว จากกรุงเทพฯ ไปทางดาวคะนอง แล้วเข้าสู่ถนนหมายเลข 35 ผ่านสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชิดซ้ายตรงทางแยกที่บอกป้ายไปเพชรบุรี เข้าสู่ถนนหมายเลข 4 ขับไปเรื่อยๆ เบี่ยงซ้ายเข้าสู่เพชรเกษมสายเก่า วิ่งตรงต่อไปถนนราชวิถี ผ่านปาล์มชูส์ อีก 700 เมตรก็ถึงจุดหมายปลายทางด้านขวามือ
2. เดินทางโดยรถสาธารณะ สามารถไปได้ทั้งรถตู้ รถทัวร์ รถโดยสาร รถไฟ จุดหมายคือในตัวเมือง แล้วต่อรถในพื้นที่